นอนนอนร่วมจัดฝึกอบรมการใช้ ‘Cambridge Value Mapping Tool’

เมื่อวันที่ 12 พ.ค. ที่ผ่านมา นอนนอนได้ร่วมกับสถาบันเพื่อการผลิต (Institute for Manufacturing) มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (University of Cambridge) และสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (Asian Institute of Technology: AIT) จัดฝึกอบรมการใช้ “เครื่องมือแผนผังคุณค่าเคมบริดจ์” (Cambridge Value Mapping Tool) ที่โกลวฟิช สาธร (Glowfish Sathorn) กรุงเทพฯ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ขับเคลื่อนโครงการนวัตกรรมรักษ์สิ่งแวดล้อมได้เรียนรู้การใช้เครื่องมือดังกล่าวในการรวบรวมมุมมองหลายๆ ด้าน จากหลายๆ ภาคส่วน อย่างเป็นระบบเพื่อค้นพบโอกาสในการสร้างคุณค่าที่มักถูกมองข้าม โดยใช้โครงการพัฒนาเทคโนโลยีอัพไซเคิล (upcycle) ฟองน้ำของนอนนอนเป็นกรณีศึกษา 

Cambridge Value Mapping Tool เป็นส่วนหนึ่งของเครื่องมือเพื่อธุรกิจรักษ์สิ่งแวดล้อมที่มีนวัตกรรมเป็นส่วนเกี่ยวข้อง ได้รับการพัฒนาขึ้นโดยศูนย์เพื่ออุตสาหกรรมที่ยั่งยืน (Centre for Industrial Sustainability) สถาบันเพื่อการผลิต มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ เพื่อช่วยธุรกิจต่างๆ ในการประเมินความครบถ้วนในการสร้างคุณค่าในด้านต่างๆ ของโครงการนวัตกรรมของตน ผ่านมุมมองของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากหลายๆ ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับโครงการนั้นๆ โดยเครื่องมือดังกล่าวได้ช่วยให้กลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและธุรกิจมากมายทั่วโลกได้ค้นพบคุณค่าที่ซ่อนเร้นอยู่ในโครงการนวัตกรรมของตนจากมุมมองการสร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมแบบองค์รวม (holistic sustainability perspective)

การฝึกอบรมดังกล่าวได้ถูกดำเนินการโดย ดร.คิวรี่ย์ พาร์ค (Dr. Curie Park) นักวิจัยจากศูนย์เพื่ออุตสาหกรรมที่ยั่งยืน ผู้เป็นหนึ่งในผู้ร่วมพัฒนาเครื่องมือดังกล่าวขึ้น โดยมีผู้เข้าร่วมเป็นตัวแทนจากองค์กรต่างๆ ที่มีส่วนร่วมในการพัฒนานวัตกรรมรักษ์สิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นในด้านเทคโนโลยีหรือสังคม อาทิเช่น บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ และมูลนิธิยูนุส ประเทศไทย (Yunus Thailand) รวม 11 ท่าน

การฝึกอบรมดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ นวัตกรรมระบบหมุนเวียนสำหรับฟองน้ำ: การใช้การเร่งปฏิกิริยาในการอัพไซเคิลฟองน้ำใช้แล้วจากที่นอนและสินค้าอื่นๆ (Circular System Innovation for Polyurethane Foam: Catalytic approach to upcycle foam waste from mattresses and beyond) ของนอนนอน โดยได้รับการสนับสนุนจาก

  • โครงการ “วิศวกรรม X การเปลี่ยนแปลงระบบผ่านความร่วมมือ” (Engineering X Transforming Systems through Partnership programme) ราชวิศวกรรมศาสตร์บัณทิตยสถาน (Royal Academy of Engineering) สหราชอาณาจักร 

  • หน่วยบริหารจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.)

  • สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

  • บริษัท เซอร์คิวลาร์ริตี จำกัด (นอนนอน)

Nophol Techaphangam