นอนนอนได้รับเลือกเป็นกรณีศึกษาธุรกิจแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยเครือข่าย ASEAN CSR และ SWITCH-Asia สหภาพยุโรป

โครงการ “ขับเคลื่อนธุรกิจสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนในอาเซียน” (Mobilising Business Action for Circular Economy in the ASEAN Countries) ของส่วนสนับสนุนนโยบายการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน (Policy Support Component on Sustainable Consumption and Production) ของ SWITCH-Asia หนึ่งในโครงการของสหภาพยุโรป และเครือข่าย ASEAN CSR ได้คัดเลือกนอนนอนให้เป็นหนึ่งในกรณีศึกษาธุรกิจแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยนอนนอนเป็นธุรกิจเดียวจากประเทศไทยที่ได้รับการคัดเลือก

โครงการดังกล่าวมีเป้าหมายที่จะขับเคลื่อน ผลักดัน และช่วยให้เกิดธุรกิจแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน ตลอดจนช่วยสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาและดำเนินการตามกรอบนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียนอาเซียน 2021 (2021 ASEAN Circular Economy Framework) ผ่านการมองเศรษฐกิจหมุนเวียนให้เป็นการระดมความคิดและการร่วมสร้างสรรค์ (co-creation) ที่ขับเคลื่อนด้วยวิธีปฏิบัติทางธุรกิจที่มีความรับผิดชอบที่จะช่วยยับยั้งการสูญเสียวัสดุ พลังงาน น้ำ และทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆ ในวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์และการบริการต่างๆ 

เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลตั้งต้น SWITCH-Asia และเครือข่าย ASEAN CSR ได้เก็บข้อมูลและวิเคราะห์การประยุกต์ใช้แนวคิดธุรกิจเศรษฐกิจหมุนเวียนในอาเซียน โดยในฐานะธุรกิจแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนที่อยู่บนหลักการและเหตุผลทางธุรกิจในระดับท้องถิ่นที่ชัดเจนและสามารถใช้ได้จริงที่ได้รับการคัดเลือก นอนนอนถือเป็นกรณึศึกษาที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้ธุรกิจอื่นๆ ตลอดจนภาคอุตสาหกรรมและรัฐบาล เข้ามามีบทบาทในการสร้างสรรค์ระบบนิเวศที่จะเป็นพื้นฐานของระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนต่อไป 

อ่านต่อ

Nophol Techaphangam
นอนนอนในงาน THAIFEX – HOREC Asia 2024

ในฐานะผู้ก่อตั้งและ CEO ของนอนนอน สตาร์ทอัพชั้นนำของไทยที่ให้บริการเช่าสินค้าใหม่ภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน นพพล เตชะพันธ์งาม ได้รับเกียรติให้เป็นวิทยากรในหัวข้อ “สู่อนาคตที่สีเขียวยิ่งขึ้นด้วยที่นอน” (Towards a Greener Future with Mattresses) และเข้าร่วมอภิปรายในหัวข้อ “กลยุทธ์และแนวทางปฏิบัติที่เป็นเลิศเพื่อความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมของโรงแรม” (Strategies and Best Practices for Hotel Environmental Sustainability) ในงาน THAIFEX-HOREC Asia 2024 ณ อิมแพค เมืองทองธานี กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 7 มี.ค. ที่ผ่านมา โดยงานดังกล่าวถือเป็นงานแสดงสินค้าใหม่ล่าสุดสำหรับอุตสาหกรรมโรงแรม ร้านอาหาร และบริการจัดเลี้ยง (HORECA) ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

การอภิปรายได้พูดถึงบทบาทสำคัญที่โรงแรมมีในการสร้างอนาคตที่ยั่งยืนและมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม โดยถูกดำเนินโดย ซาแมนทา ลอเวอร์-แมริออน (Samantha Lauver-Marion) ผู้อำนวยการด้านความร่วมมือระดับโลก (Director of Global Partnerships) สถาบันการบริหารจัดการโรงแรมแห่งเอเชีย (Asian Institute of Hospitality Management: AIHM) และมีผู้เข้าร่วมดังนี้

  1. ไอลิน เซีย (Ailynn Seah) กรรมการที่ปรึกษาด้านพาณิชย์ สมาคมการขายและการตลาดธุรกิจให้บริการที่พักสากล (Hospitality Sales and Marketing Association International: HSMAI)

  2. เอมมานูเอล เทย์ (Emmanual Tay) ผู้ก่อตั้ง Circular Unite

  3. นพพล เตชะพันธ์งาม ผู้ก่อตั้งและ CEO นอนนอน

งาน THAIFEX-HOREC Asia 2024 ได้ถูกจัดขึ้นโดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ หอการค้าไทย และโคล์เมซเซ่ (Koelnmesse) เพื่อยกระดับมาตรฐานความเป็นเลิศด้าน HORECA ในเอเชียและทั่วโลก โดยมีผู้เข้าร่วมที่เป็นนักธุรกิจทั้งหมด 15,851 รายจาก 68 ประเทศในช่วงเวลาจัดงาน 3 วัน

Nophol Techaphangam
นอนนอนในการประชุมวิชาการระดับชาติ เรื่อง 'การจัดการของเสียภายใต้เศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างยั่งยืน'

ในฐานะผู้ก่อตั้งและ CEO ของนอนนอน สตาร์ทอัพแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนที่ขับเคลื่อนด้วยงานวิจัยและพัฒนาในด้านต่างๆ นพพล เตชะพันธ์งาม ได้รับเกียรติให้เป็นวิทยากรในหัวข้อ “ถอดบทเรียนธุรกิจเศรษฐกิจหมุนเวียนและโจทย์วิจัยที่ต้องการการสนับสนุน” ในช่วง “การจัดการของเสียชุมชนอย่างยั่งยืนสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน” ในการประชุมวิชาการระดับชาติ เรื่อง “การจัดการของเสียภายใต้เศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างยั่งยืน” เมื่อวันที่ 22 ก.พ. ที่ผ่านมา ที่กรุงเทพฯ

การประชุมดังกล่าวได้ถูกจัดขึ้นโดย ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสารและของเสียอันตราย (ศสอ.) ร่วมกับ สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้โครงการ “ศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการของเสียเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน” (Hub of Waste Management for Sustainable Development) ที่ได้รับเงินทุนสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

โดยนอกจากผู้ก่อตั้งและ CEO ของนอนนอนแล้ว ยังมีผู้ทรงคุณวุฒิที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยและพัฒนาในภาคเศรษฐกิจหมุนเวียนท่านอื่นเข้าร่วมเป็นวิทยากรในการประชุมช่วงดังกล่าวด้วย ได้แก่

  • ดร.สุจิตรา วาสนาดำรงดี สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

  • ดร.นุจรินทร์ รามัญกุล ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ

  • ธีรชัย ศุภเมธีกูลวัฒน์ ผู้อำนวยการด้านงานออกแบบ Qualy

  • ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ

  • รศ. ดร.รัตนาวรรณ มั่งคั่ง ผู้อำนวยการวีกรีน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

อนึ่ง การประชุมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเครือข่ายและบูรณาการความร่วมมือระหว่างนักวิจัย ผู้เชี่ยวชาญ และผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการของเสียทั้งในประเทศและต่างประเทศ ครอบคลุมภาคการศึกษา ภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคอุตสาหกรรมและบริการ ซึ่งรวมถึงภาคประชาสังคม เพื่อนำมาซึ่งการพัฒนางานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมด้านการจัดการของเสียอย่างยั่งยืน และถูกจัดขึ้นเนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปีการสถาปนาสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Nophol Techaphangam
นอนนอนในงานสัมมนา ‘การเป็นผู้ประกอบการที่ยั่งยืน - ส่งพลังให้เยาวชน’ ของ AIT EC

ในฐานะผู้ประกอบการที่ขับเคลื่อนสตาร์ทอัพแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน นพพล เตชะพันธ์งาม ผู้ก่อตั้งและ CEO นอนนอน ได้รับเกียรติจากศูนย์บ่มเพาะผู้ประกอบการ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (Asian Institute of Technology Entrepreneurship Centre: AIT EC) ให้มอบแรงบันดาลใจให้นักศึกษาของ AIT และจากประเทศจีนในการริเริ่มเป็นผู้ประกอบการ ผ่านการบรรยายในหัวข้อ “เหนือไปกว่ากำไร - สร้างสรรค์ความฝันที่ยั่งยืนในอุตสาหกรรมที่นอน” (Beyond Profit: Crafting Sustainable Dreams in the Mattress Industry) และการร่วมอภิปรายในหัวข้อมุ่งสู่อนาคตที่ยั่งยืนผ่านการเป็นผู้ประกอบการรุ่นเยาว์” (Youth Entrepreneurship for a Sustainable Future) ในงานสัมมนา “การเป็นผู้ประกอบการที่ยั่งยืน - ส่งพลังให้เยาวชน” (Sustainable Entrepreneurship: Empowering the Youth) ที่ EC Creator Space, AIT เมื่อวันที่ 30 ม.ค. ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ การอภิปรายดังกล่าวได้ถูกดำเนินโดย ดร.ละกีชา แรนซอม (Dr. Lakeesha Ransom) ผู้อำนวยการความสัมพันธ์ธุรกิจ (Enterprise Engagement Director) AIT EC และมีผู้เข้าร่วมดังนี้

  1. อเล็กซานเดอร์ และ เอโลดี ราดัค (Alexander and Elodie Radach) ผู้ร่วมก่อตั้ง Sai Yok Springs

  2. ศ.ดิเอทเทอร์ เทรา ผู้อำนวยการ AIT EC

  3. เควิน มาร์คส์ กรรมการผู้จัดการ Landmarks Company

  4. นพพล เตชะพันธ์งาม ผู้ก่อตั้งและ CEO นอนนอน

งานสัมมนาดังกล่าวได้ถูกจัดขึ้นโดย AIT EC โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแบ่งปันมุมมองที่ผู้ประกอบการที่มุ่งสร้างความยั่งยืนและความเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกมีต่อการเป็นผู้ประกอบการ และเพื่อจุดประกายความเป็นผู้ประกอบการในหมู่นักศึกษาที่เข้าร่วมงานฯ

Nophol Techaphangam
การแถลงผลการประเมินวัฏจักรชีวิต (LCA) ครั้งแรกของนอนนอนและอุตสาหกรรมที่นอนในประเทศไทย

เมื่อวันที่ 19 ต.ค. ที่ผ่านมา อธิวัตร จิรจริยาเวช นักวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีและสารสนเทศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (สทสย.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ผู้นำโครงการ การศึกษารูปแบบธุรกิจ ‘การบริการในรูปแบบสินค้า’ ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนด้วยเทคนิคการประเมินวัฏจักรชีวิต (Life Cycle Assessment: LCA): กรณีศึกษาผลิตภัณฑ์ที่นอนที่ใช้ในธุรกิจโรงแรม ที่นอนนอนได้ริเริ่มขึ้นเพื่อประเมินขีดความสามารถของนอนนอนในการช่วยลดการเกิดขยะ ก๊าซเรือนกระจก และมลภาวะจากการผลิต ใช้ และทิ้งที่นอน ได้เปิดเผยผลการศึกษาดังกล่าว ใน การประชุมเชิงปฏิบัติการ “นวัตกรรมเชิงระบบสำหรับขยะฟองน้ำโพลียูรีเทน” ปี 2566 (Circular Systems Innovation for Flexible Polyurethane Foam Waste Workshop 2023: CSI-PW 2023) ณ โรงแรม The Peninsula Bangkok กรุงเทพฯ

โดย LCA เป็นวิธีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเชิงปริมาณที่พิจารณาผลกระทบที่เกิดขึ้นตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่การขุดนำเอาทรัพยากรธรรมชาติออกมาใช้เป็นวัตถุดิบ การจัดส่งวัตถุดิบเข้าสู่กระบวนการผลิต การผลิตผลิตภัณฑ์ การจัดส่งผลิตภัณฑ์ไปสู่การใช้งาน การใช้งานผลิตภัณฑ์ ตลอดจนการทิ้งหรือกำจัดซากของผลิตภัณฑ์เมื่อสิ้นสุดการใช้งาน โดยในการศึกษาครั้งนี้ ได้มีการจำแนกวัฏจักรชีวิตของที่นอนที่ใช้ในอุตสาหกรรมโรงแรมออกเป็น 5 สถานการณ์ด้วยกัน ภายใต้สมมติฐานการใช้งานที่นอนเป็นระยะเวลา 10 ปี

  • สถานการณ์ที่ 1: การใช้ที่นอนคุณภาพสูงที่มีอายุการใช้งาน 10 ปี ที่สุดท้ายที่นอนถูกกำจัดด้วยวิธีการฝังกลบ 100%

  • สถานการณ์ที่ 2: การใช้ที่นอนคุณภาพสูงที่มีอายุการใช้งาน 10 ปี ที่สุดท้ายที่นอนถูกกำจัดด้วยวิธีการตามปกติของธุรกิจโรงแรม (อ้างอิงตามผลสำรวจโรงแรม จำนวน 354 แห่ง และหน่วยงานจัดการขยะทั้งภาครัฐและเอกชน จำนวน 50 แห่ง ใน 8 สำคัญทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว ซึ่งได้แก่ กรุงเทพมหานคร จ.เชียงใหม่ จ.เชียงราย เมืองพัทยา จ.ภูเก็ต จ.กระบี่ จ.นครราชสีมา และ จ.ขอนแก่น)

  • สถานการณ์ที่ 3: การใช้ที่นอนคุณภาพสูงที่มีอายุการใช้งาน 10 ปี ที่สุดท้ายที่นอนถูกนำไปรีไซเคิลตามรูปแบบธุรกิจของนอนนอน

  • สถานการณ์ที่ 4: การใช้ที่นอนคุณภาพต่ำที่มีอายุการใช้งาน 3 ปี (คิดเป็นที่นอนทั้งหมด 3.33 ชิ้น) ที่สุดท้ายที่นอนถูกกำจัดด้วยวิธีการฝังกลบ 100%

  • สถานการณ์ที่ 5: การใช้ที่นอนคุณภาพต่ำที่มีอายุการใช้งาน 3 ปี (คิดเป็นที่นอนทั้งหมด 3.33 ชิ้น) ที่สุดท้ายที่นอนถูกกำจัดด้วยวิธีการตามปกติของธุรกิจโรงแรม (อ้างอิงตามผลสำรวจฯ)

โดยที่นอนคุณภาพสูงที่ใช้เป็นหน่วยศึกษา (functional unit) คือ ที่นอน ยี่ห้อ สปริงเมท รุ่น Pocket Coil Heritage PT ขนาด 107 x 198 ซม. ส่วนที่นอนคุณภาพต่ำเป็นขนาดเดียวกัน แบบที่มีวางจำหน่ายในท้องตลาดทั่วไป

จากผลสำรวจฯ พบว่า หลังพ้นการใช้งานแล้ว ประมาณ 50% ของที่นอน (โดยน้ำหนัก) จะถูกโรงแรมส่งไปฝังกลบ 30% ถูกจำหน่าย บริจาค หรือส่งต่อเพื่อนำไปใช้งานซ้ำ 17% ถูกนำไปรีไซเคิล และ 3% ถูกนำไปเผา (เทียบกับการจัดการซากที่นอนตามรูปแบบธุรกิจของนอนนอนที่อย่างน้อย 62% ของที่นอน (ลวดสปริง ฟองน้ำ ฯลฯ) จะถูกนำไปแยกชิ้นส่วนไปรีไซเคิล ซึ่งเท่ากับเป็นการลดการนำที่นอนไปฝังกลบและเผาทำลาย)

จากการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นใน 5 สถานการณ์ดังกล่าวด้วยวิธีการ ReCiPe Midpoint และ ReCiPe Endpoint อันเป็นวิธี LCA ของประเทศเนเธอร์แลนด์ที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล โดยพิจารณาผลกระทบสิ่งแวดล้อมทั้งหมด 17 ด้าน พบว่ามีผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่หนักที่สุด 3 ด้านในทั้ง 5 สถานการณ์ ได้แก่ ผลกระทบด้านภาวะโลกร้อน การก่อตัวของอนุภาคขนาดเล็ก (fine particulate matter formation) หรือมลภาวะทางอากาศ (PM2.5) และการก่อตัวของสารพิษที่ไม่ก่อให้เกิดมะเร็งในมนุษย์ (human non-carcinogenic toxicity) โดยทั้ง 3 ผลกระทบมาจากจุดต่างๆ ในวัฏจักรชีวิตของที่นอน ดังนี้

ตารางแสดงที่มาของ 3 ผลกระทบสิ่งแวดล้อมหลักในทั้ง 5 สถานการณ์

หากเปรียบเทียบผลกระทบทั้ง 3 ด้านใน 5 สถานการณ์ จะพบว่า รูปแบบธุรกิจของนอนนอน (สถานการณ์ที่ 3) สามารถช่วยลดการเกิดภาวะโลกร้อนได้อย่างน้อย 31% การเกิดมลภาวะทางอากาศอย่างน้อย 28% และการเกิดสารพิษที่ไม่ก่อให้เกิดมะเร็งในมนุษย์อย่างน้อย 24% (เปรียบเทียบสถานการณ์ที่ 2 และ 3)

กราฟเปรียบเทียบความรุนแรงของผลกระทบสิ่งแวดล้อม 3 ด้านหลักใน 5 สถานการณ์

นอกจากนี้ การศึกษาครั้งนี้ยังได้มีการประเมินค่าการหมุนเวียนของวัสดุ (Material Circularity Indicator) ซึ่งเป็นการประเมินสัดส่วนการถูกนำกลับมาใช้ใหม่ของวัสดุต่างๆ ในผลิตภัณฑ์ (แทนที่การถูกทิ้งเป็นขยะ) ตามหลักการของมูลนิธิเอเลน แมคอาร์เธอร์ (Ellen MacArthur Foundation) ผู้นำด้านแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนระดับโลก โดยค่าดังกล่าวจะอยู่ระหว่าง 0 ถึง 1 โดยค่า 0 หมายถึงการที่วัสดุต่างๆ สุดท้ายกลายเป็นขยะและไม่ได้ถูกนำกลับมาใช้ประโยชน์แต่อย่างใด และค่า 1 หมายถึงการที่วัสดุทั้งหมดได้ถูกนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ ทั้งนี้ จากการศึกษาพบว่าในสถานการณ์ที่ 1, 2 และ 3 ค่าดังกล่าวอยู่ที่ 0.10, 0.32 และ 0.41 ตามลำดับ จึงเห็นได้ว่านอนนอนจะมีส่วนในการช่วยให้วัสดุต่างๆ ในที่นอนถูกนำกลับมาใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 28% 

การศึกษาครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) และ บริษัท สมพลเบดดิ้ง แอนด์ แมทเทรส อินดัสตรี จำกัด ผู้ผลิตที่นอนสปริงเมท และได้ถูกดำเนินการโดย สทสย. ในช่วงระหว่างเดือนพฤษภาคม 2564 ถึง เดือนมกราคม 2566 โดยถือเป็นการจัดทำ LCA ครั้งแรกของอุตสาหกรรมที่นอนในประเทศไทย 

ดูคลิปการแถลงผลฯ (ข้อมูลบางส่วนมีการเปลี่ยนแปลง update หลังวันแถลงผลฯ)

Nophol Techaphangam
นอนนอนในการประชุมปฏิบัติการ ‘แนวร่วมธุรกิจสำหรับการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนในประเทศไทย’ ของ SWITCH-Asia และเครือข่าย ASEAN CSR

ในฐานะผู้ประกอบการแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน นพพล เตชะพันธ์งาม ผู้ก่อตั้งและ CEO นอนนอน ได้รับเกียรติจาก SWITCH-Asia และเครือข่าย ASEAN CSR ให้แบ่งปันประสบการณ์ในการสร้างสตาร์ทอัพแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในประเทศไทย พร้อม สรณัญช์ ชูฉัตร ผู้ก่อตั้ง CEO และประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านความยั่งยืน ETRAN และ จิรโรจน์ พจนาวราพันธุ์ กรรมการผู้จัดการ SC Grand ในการประชุมปฏิบัติการ “แนวร่วมธุรกิจสำหรับการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนในประเทศไทย” (Thailand Business Engagement Workshop on Circular Economy) เมื่อวันที่ 2 พ.ย. ที่ผ่านมา ที่กรุงเทพฯ

การประชุมครั้งนี้ได้จัดขึ้นเพื่อรวมตัวแทนธุรกิจและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากหลายภาคส่วน เพื่อมาเริ่มค้นหาขอบเขต ความจำเป็นเร่งด่วน และความเป็นไปได้ในเชิงธุรกิจในการขับเคลื่อนแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในประเทศไทย โดยมีเป้าหมายดังนี้ 

  1. เพื่อหาขอบเขต โอกาส และความสอดคล้องต่อบริบทของประเทศไทยในการขับเคลื่อนธุรกิจแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยมุ่งเน้นการเสริมสร้างความเข้าใจ ความเป็นจำเป็นเร่งด่วน และเหตุผลทางธุรกิจที่สนับสนุนแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน

  2. เพื่อบ่งชี้และสะท้อนภาพตัวอย่างธุรกิจและอุตสาหกรรมที่อยู่บนแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนที่สามารถขยายผลได้ ทั้งที่มีอยู่แล้วและกำลังเกิดขึ้น ตลอดจนความสำเร็จด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนในประเทศไทย

  3. เพื่อค้นหาความมุ่งมั่นของธุรกิจ ความเป็นไปได้ในการร่วมมือกันทั้งในระดับปัจเฉกและเป็นกลุ่ม ความมีส่วนรับผิดชอบ การสนับสนุน และการบริหารจัดการองค์ความรู้ สำหรับการประยุกต์ใช้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในประเทศไทย 

ทั้งนี้ การประชุมครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการริเริ่มการขับเคลื่อน กระตุ้น และแสวงหาฉันทามติที่ธุรกิจมีต่อแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในอาเซียนของเครือข่าย ASEAN CSR ที่เริ่มต้นจากประเทศกัมพูชา อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม ภายใต้การสนับสนุนทางการเงินจากส่วนสนับสนุนนโยบาย (Policy Support Component) ของ SWITCH-Asia ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการของสหภาพยุโรป

Nophol Techaphangam
นอนนอนในการประกวด Hult Prize at Chula 2024

ในฐานะผู้ประกอบการที่อยู่เบื้องหลังสตาร์ทอัพแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน นพพล เตชะพันธ์งาม ผู้ก่อตั้งและ CEO ของนอนนอน ได้รับเกียรติจาก Hult Prize at Chula ให้แบ่งปันประสบการณ์ในการสร้างและบริหารกิจการที่มุ่งสร้างความเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกให้กับโลกและสังคม ภายใต้หัวข้อ “คิดนอกกรอบ” (Thinking Out of the Box) ใน workshop ครั้งที่ 2 ของการประกวด Hult Prize at Chula 2024 เมื่อวันที่ 20 ต.ค. ที่ผ่านมา ณ อาคารอนุสรณ์ 50 ปี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Hult Prize at Chula เป็นส่วนหนึ่งของการประกวด Hult Prize ซึ่งเป็นการประกวดแข่งขันแนวคิดการสร้างธุรกิจเพื่อสังคมเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงในเชิงบวก พร้อมช่วยแก้ไขปัญหาระดับโลก โดยถือเป็นเวทีการประกวดลักษณะนี้ที่ใหญ่ที่สุดของโลก จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดย Hult Prize at Chula มีเป้าหมายที่จะเป็นแพลตฟอร์มให้นักศึกษาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ลองคิดริเริ่มธุรกิจเพื่อสังคมที่ตอบโจทย์ความท้าทายที่โลกและสังคมของเรากำลังเผชิญอยู่ โดยโจทย์ของการแข่งขันในปีนี้ คือ การสร้างธุรกิจเพื่อสังคมที่ตรงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ของสหประชาชาติอย่างน้อย 1 เป้าหมาย

Nophol Techaphangam
การประชุมเชิงปฏิบัติการนวัตกรรมเชิงระบบสำหรับขยะฟองน้ำโพลียูรีเทน ปี 2566

เมื่อวันที่ 19 ต.ค. ที่ผ่านมา สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (Asian Institute of Technology: AIT) มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (University of Cambridge) และนอนนอน (ภายใต้ บริษัท เซอร์คิวลาร์ริตี จำกัด) ได้ร่วมกันจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ “นวัตกรรมเชิงระบบสำหรับขยะฟองน้ำโพลียูรีเทน” ปี 2566 (Circular Systems Innovation for Flexible Polyurethane Foam Waste Workshop 2023: CSI-PW 2023) ที่โรงแรม The Peninsula Bangkok กรุงเทพฯ เพื่อเผยแพร่ผลงานวิจัยและพัฒนาดังต่อไปนี้ พร้อมความท้าทายที่เกี่ยวข้อง:

  • โครงการพัฒนาเทคโนโลยีรีไซเคิลฟองน้ำโพลียูรีเทนที่อาศัยเทคโนโลยีนาโน (nanotechnology) ที่ได้รับการดำเนินการโดย AIT ร่วมกับมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์และนอนนอน 

  • การประเมินขีดความสามารถในการช่วยลดการเกิดขยะ มลภาวะ และก๊าซเรือนกระจกจากการผลิต ใช้ และจัดการซากที่นอนของบริการให้เช่าที่นอนภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนของนอนนอน ด้วยเทคนิคการประเมินวัฏจักรชีวิต (Life Cycle Assessment: LCA) ที่ได้รับการดำเนินการโดย สถาบันเทคโนโลยีและสารสนเทศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (สทสย.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

นอกจากนี้ การประชุมไฮบริดครั้งนี้ยังได้เปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจสนับสนุนระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนได้รับความรู้และมุมมองด้านความท้าทายและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม จากวิทยากรชั้นนำจากทั้งในไทยและสหราชอาณาจักร

โดยการจัดงานครั้งนี้ได้รับเกียรติจากวิทยากรดังต่อไปนี้มาทำการบรรยาย

  • อธิวัตร จิรจริยาเวช นักวิจัย สทสย.

  • เบ็น มอร์ลีย์ (Ben Morley) ที่ปรึกษาด้านพาณิชย์และผู้อำนวยการด้านธุรกิจและการค้าประจำประเทศไทย สถานเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย

  • ดร.คิวรีย์ พาร์ค (Dr. Curie Park) นักวิจัย สถาบันเพื่อการผลิต (Institute for Manufacturing) มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์

  • ดร.เอเลนี ไอยาโควิโดว (Dr. Eleni Iacovidou) อาจารย์อาวุโสด้านการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยบรูเนล (Brunel University)

  • ศ.จอยชรี รอย (Prof. Joyashree Roy) ผู้อำนวยการ SMARTSCentre AIT

  • กรรณิการ์ ความสวัสดิ์ นักวิจัย ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสารและของเสียอันตราย (ศสอ.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

  • ผช.ศ.ดร.ราฟาเอล ริคโค่ (Asst. Prof. Dr. Raffaele Ricco) นักวิจัย คณะวิศวกรรมอุตสาหการและระบบ AIT

  • ศ.สตีฟ อีวานส์ (Prof. Steve Evans) ผู้อำนวยการการวิจัยเพื่อความยั่งยืนของอุตสาหกรรม สถาบันเพื่อการผลิต มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์

  • ศ.ซูซาน โจบลิง (Prof. Susan Jobling) ผู้อำนวยการ สถาบันเพื่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และสังคม มหาวิทยาลัยบรูเนล

  • ผช.ศ.ดร.ทานุจัล โบรา (Asst. Prof. Dr. Tanujjal Bora) ผู้อำนวยการ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีนาโน AIT

การประชุมครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมฯ เป็นตัวแทนจากองค์กรต่างๆ รวมกว่า 30 องค์กร และได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณจากราชวิศวกรรมศาสตร์บัณทิตยสถานแห่งสหราชอาณาจักร (UK Royal Academy of Engineering) ผ่านโครงการ “Engineering X Transforming Systems through Partnership” สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ บริษัท เซอร์คิวลาร์ริตี จำกัด โดยถือเป็นการประชุมต่อยอดจากการประชุมเชิงปฏิบัติการนวัตกรรมเชิงระบบหมุนเวียนสำหรับขยะพลาสติก ปี 2565 (Circular Systems Innovation for Plastic Waste Workshop 2022: CSI-PW 2022) ที่จัดขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่ผ่านมา

คลิก เพื่อชมเทปบันทึกการประชุมฯ

Nophol Techaphangam
นอนนอนในรายการ TNN Tech Reports Weekly

นพพล เตชะพันธ์งาม ผู้ก่อตั้งและ CEO นอนนอน เล่าให้ TNN Tech Reports Weekly ฟังว่า นอนนอนช่วยให้ที่นอนที่พ้นสภาพการใช้งานแล้วไม่กลายเป็นขยะ ผ่านแพลตฟอร์มให้เช่าที่นอนภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนของเรา ได้อย่างไร 

ออกอากาศทางช่อง TNN 16 วันที่ 23 กันยายน 2566

คลิก เพื่อดู

Nophol Techaphangam
นอนนอนในการประชุมปฏิบัติการ ‘งานสีเขียวแห่งอนาคต’ ของ UNEP

ในฐานะผู้ประกอบการที่ขับเคลื่อนธุรกิจแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน นพพล เตชะพันธ์งาม ผู้ก่อตั้งและ CEO ของนอนนอน ได้รับเกียรติจากยูนุส ประเทศไทย (Yunus Thailand) ให้เข้าร่วมอภิปรายในหัวข้อ “การขับเคลื่อนงานและความเป็นผู้ประกอบการสีเขียว: ก้าวข้ามช่องว่างด้านทักษะผ่านแนวทางการร่วมมือระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากหลายภาคส่วน” (Driving green jobs and entrepreneurship: Bridging the skills gap(s) through a multi-stakeholder approach) ในการประชุมปฏิบัติการ (workshop) “งานสีเขียวแห่งอนาคต: การพัฒนาทักษะ งานสีเขียว และเทคโนโลยี เพื่อเร่งการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน” (Green Jobs for the Future: Skills development, green jobs and technologies to accelerate the circular economy) ขององค์การควบคุมสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Programme: UNEP) ที่โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 14 ก.ย. ที่ผ่านมา 

ทั้งนี้ การอภิปรายดังกล่าวได้ถูกดำเนินโดย อาเมียร์ รัดฟาร์ (Amir Radfar) ผู้เชี่ยวชาญด้านการฝึกอบรมด้านเทคนิคและการอาชีวศึกษา และมีผู้เข้าร่วมดังนี้

  1. ตัวแทนนักศึกษาจากประเทศจีน

  2. สุธิชา ชาง ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย องค์กรเยาวชนอาเซียน (ASEAN Youth Organisation)

  3. นพพล เตชะพันธ์งาม ผู้ก่อตั้งและ CEO นอนนอน

งานดังกล่าวได้ถูกจัดขึ้นโดย UNEP และสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (Asian Institute of Technology: AIT) ร่วมกับยูนุส ประเทศไทย สถาบันสหประชาชาติเพื่อการอบรมและวิจัย (UN Institute for Training and Research: UNITAR) และ UNESCO ภายใต้การสนับสนุนจากมูลนิธิโอ๊ค (Oak Foundation) โดยมีเป้าหมายที่จะเพิ่มความตระหนักรู้ในด้านทักษะที่จำเป็นต่อเศรษฐกิจหมุนเวียนและหาหนทางในการก้าวข้ามช่องว่างทางทักษะที่มีอยู่ในปัจจุบัน

นอกจากนี้ งานดังกล่าวยังมีวัตถุประสงค์ที่จะส่งเสริมข้อตกลง “งานสีเขียวสำหรับเยาวชน” (Green Jobs for Youth Pact) ของ UNEP องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organisation: ILO) และ UNICEF ที่มีเพื่อส่งเสริมโอกาสในการได้งานสีเขียวในกลุ่มเยาวชนอีกด้วย

Nophol Techaphangam
นอนนอนร่วมการประชุมเศรษฐกิจหมุนเวียน ปี 2566 โดยกลุ่ม Star Media

ในฐานะผู้ประกอบการผู้ขับเคลื่อนการบริการและนวัตกรรมแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน นพพล เตชะพันธ์งาม ผู้ก่อตั้งและ CEO นอนนอน ได้รับเกียรติจากกลุ่มสตาร์ มีเดีย (Star Media Group) ให้เข้าร่วมอภิปรายในหัวข้อ “สู่ความยั่งยืนทางการเงินของโมเดลธุรกิจแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน” (Ensuring circular models become financially viable) ในการประชุมเศรษฐกิจหมุนเวียน ปี 2566 (Circular Economy Conference 2023) พร้อมผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนจากมาเลเซีย เมื่อวันที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมา

ทั้งนี้ การอภิปรายดังกล่าวได้ถูกดำเนินโดย ดร.โกปาลาซามี รูเบน คลีนเมนต์ส (Dr. Gopalasamy Reuben Clements) ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Finance Specialist) สัตววิทยาสมาคมแห่งลอนดอน (Zoological Society of London) และมีผู้เข้าร่วมดังนี้

  1. มาลาร์ โอดายัพพัน (Malar Odayappan) ผู้อำนวยการด้านผลลัพธ์ทางสังคม ความยั่งยืน และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ PwC Malaysia 

  2. ดร.เอส ศรี อูเมสวารา (Dr. S. Sri Umeswara) กรรมการบริหาร DIALOG ESECO Sdn Bhd

  3. นพพล เตชะพันธ์งาม ผู้ก่อตั้งและ CEO นอนนอน 

การประชุมออนไลน์ครั้งนี้มีผู้อภิปรายจากธุรกิจต่างๆ ที่ได้รับการยอมรับในระดับโลกจากมาเลเซีย ไทย สิงคโปร์ ฮ่องกง และสหราชอาณาจักร เข้าร่วม รวม 26 ท่าน โดยได้มุ่งประเด็นไปที่บทบาทของการเงินสีเขียว (green financing) ในการพัฒนาแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน และเพื่อหาคำตอบสำหรับคำถามที่ว่า “ธุรกิจสามารถทำอะไรบ้างที่จะก่อให้เกิดทั้งความยั่งยืนและสร้างผลกำไร” 

อ่าน บทสรุปการประชุมฯ

ดู เทปบันทึกการอภิปรายฯ [นาทีที่ 31:42 ถึง 1:40]

Nophol Techaphangam
นอนนอนเข้าร่วม 'โครงการผู้ประกอบการระดับโลก' ของสหราชอาณาจักร

นอนนอนได้รับเลือกให้เข้าร่วม “โครงการผู้ประกอบการระดับโลก” (Global Entrepreneur Programme: GEP) โครงการของรัฐบาลสหราชอาณาจักรที่ช่วยกิจการที่มีนวัตกรรมและการเติบโตสูงจากทั่วโลกจัดตั้งสำนักงานใหญ่ในสหราชอาณาจักรเพื่อขยายธุรกิจในระดับโลก

โดยธุรกิจที่ได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการดังกล่าว จะต้องมี:

  • สินค้าหรือบริการใหม่ที่มีศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงโลกที่อยู่บนพื้นฐานของเทคโนโลยีที่เป็นเอกลักษณ์

  • แผนขยายธุรกิจในระดับโลกจากสำนักงานใหญ่ในสหราชอาณาจักร

  • สินค้าหรือบริการที่ได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคที่ได้วางตลาดแล้วหรือกำลังจะเปิดตัวสู่ตลาด

สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติม แวะชม GEP

Nophol Techaphangam
นอนนอนร่วมงาน ‘TSP Thailand In-country Event’ ของ RAEng

เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. ที่ผ่านมา ดร.ทานุจัล โบร่า (Dr. Tanujjal Bora) ผู้อำนวยการ ศูนย์เพื่อความเป็นเลิศด้านนาโนเทคโนโลยี (Centre of Excellence in Nanotechnology: COEN) สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (Asian Institute of Technology: AIT) ในฐานะหัวหน้า โครงการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีอัพไซเคิล (upcycle) ฟองน้ำของนอนนอน ที่ได้รับเงินทุนสนับสนุนจากราชวิศวกรรมศาสตร์บัณทิตยสถาน (Royal Academy of Engineering: RAEng) สหราชอาณาจักร ผ่านโครงการ “วิศวกรรม X การเปลี่ยนแปลงระบบผ่านความร่วมมือ” (Engineering X Transforming Systems through Partnership: TSP) ได้รับเกียรติจาก RAEng ให้นำเสนอภาพรวมของโครงการฯ ให้นักวิจัยจากโครงการอื่นๆ ที่ได้รับการสนับสนุนจาก RAEng ผ่านโครงการ TSP และโครงการความร่วมมือระหว่างอุตสาหกรรมและสถาบันการศึกษา (Industry Academia Partnership) ได้รับทราบ ในงาน TSP Thailand In-country Event ที่จัดโดย RAEng และหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ณ อาคารมหามกุฏ คณะวิทยาศาตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพฯ

TSP เป็นโครงการช่วยกระตุ้นความร่วมมือระหว่างธุรกิจและนักวิจัยสายวิศวกรรมศาสตร์ในประเทศโคลอมเบีย อินเดีย จอร์แดน แอฟริกาใต้ ไทย ตุรกี และสหราชอาณาจักร ที่ใช้ความรู้และความเชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมศาสตร์ในการจัดการความท้าทายด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนในหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นในด้านความหลากหลายทางชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เกษตรกรรมยั่งยืน ความมั่นคงทางอาหาร และการเปลี่ยนแปลงทางสังคม โดยถึงปัจจุบัน TSP ได้ให้การสนับสนุนโครงการวิจัยพัฒนาต่างๆ ไปแล้ว 39 โครงการในประเทศไทย เป็นเงินทุนสนับสนุนรวม 1.7 ล้านปอนด์ (ประมาณ 76 ล้านบาท)

อนึ่ง โครงการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีอัพไซเคิลฟองน้ำของนอนนอนได้เริ่มต้นขึ้นในเดือนเมษายน 2564 เพื่อรองรับกระบวนการรีไซเคิลที่นอนของนอนนอนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยจะแล้วเสร็จเป็นเทคโนโลยีต้นแบบที่ใช้ในห้องปฏิบัติการทดลอง (lab-scale prototype หรือ TRL-4) ภายในเดือนธันวาคมนี้

Nophol Techaphangam
RAEng เยี่ยมชมโครงการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีอัพไซเคิลฟองน้ำของนอนนอนที่ AIT

เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. ที่ผ่านมา ดร.ทานุจัล โบร่า (Dr. Tanujjal Bora) ผู้อำนวยการ ศูนย์เพื่อความเป็นเลิศด้านนาโนเทคโนโลยี (Centre of Excellence in Nanotechnology: COEN) สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (Asian Institute of Technology: AIT) ในฐานะหัวหน้า โครงการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีอัพไซเคิล (upcycle) ฟองน้ำของนอนนอน ที่ได้รับเงินทุนสนับสนุนจากราชวิศวกรรมศาสตร์บัณทิตยสถาน (Royal Academy of Engineering: RAEng) สหราชอาณาจักร ผ่านโครงการ “วิศวกรรม X การเปลี่ยนแปลงระบบผ่านความร่วมมือ” (Engineering X Transforming Systems through Partnership) ได้ให้การต้อนรับ สุบิร่า อิสมาเอล (Subira Ismail) เจ้าหน้าที่โครงการ Engineering X และ เจมส์ จอห์นสัน (James Johnson) เจ้าหน้าที่ดูแลเงินทุนสนับสนุนของ RAEng (Grants Officer) พร้อมรายงานผลความคืบหน้าของโครงการฯ ณ ห้องปฏิบัติการทดลองของโครงการฯ ที่ COEN เนื่องในโอกาสการมาเยือนกรุงเทพฯ

อนึ่ง โครงการวิจัยดังกล่าวได้เริ่มต้นขึ้นในเดือนเมษายน 2564 เพื่อรองรับกระบวนการรีไซเคิลที่นอนของนอนนอนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยจะแล้วเสร็จเป็นเทคโนโลยีต้นแบบที่ใช้ในห้องปฏิบัติการทดลอง (lab-scale prototype หรือ TRL-4) ภายในเดือนธันวาคมนี้

Nophol Techaphangam
นอนนอนในงาน ‘Open Market: Daily Green for Our Home’

เมื่อวันที่ 2-5 มิ.ย. ที่ผ่านมา นอนนอนได้ร่วมฉลองวันสิ่งแวดล้อมโลก ปี 2566 ผ่านการไปออกร้านในงาน “Open Market: Daily Green for Our Home” ตลาด pop-up จำหน่ายผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่ Open House Central Embassy กรุงเทพฯ

Nophol Techaphangam
นอนนอนร่วมจัดฝึกอบรมการใช้ ‘Cambridge Value Mapping Tool’

เมื่อวันที่ 12 พ.ค. ที่ผ่านมา นอนนอนได้ร่วมกับสถาบันเพื่อการผลิต (Institute for Manufacturing) มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (University of Cambridge) และสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (Asian Institute of Technology: AIT) จัดฝึกอบรมการใช้ “เครื่องมือแผนผังคุณค่าเคมบริดจ์” (Cambridge Value Mapping Tool) ที่โกลวฟิช สาธร (Glowfish Sathorn) กรุงเทพฯ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ขับเคลื่อนโครงการนวัตกรรมรักษ์สิ่งแวดล้อมได้เรียนรู้การใช้เครื่องมือดังกล่าวในการรวบรวมมุมมองหลายๆ ด้าน จากหลายๆ ภาคส่วน อย่างเป็นระบบเพื่อค้นพบโอกาสในการสร้างคุณค่าที่มักถูกมองข้าม โดยใช้โครงการพัฒนาเทคโนโลยีอัพไซเคิล (upcycle) ฟองน้ำของนอนนอนเป็นกรณีศึกษา 

Cambridge Value Mapping Tool เป็นส่วนหนึ่งของเครื่องมือเพื่อธุรกิจรักษ์สิ่งแวดล้อมที่มีนวัตกรรมเป็นส่วนเกี่ยวข้อง ได้รับการพัฒนาขึ้นโดยศูนย์เพื่ออุตสาหกรรมที่ยั่งยืน (Centre for Industrial Sustainability) สถาบันเพื่อการผลิต มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ เพื่อช่วยธุรกิจต่างๆ ในการประเมินความครบถ้วนในการสร้างคุณค่าในด้านต่างๆ ของโครงการนวัตกรรมของตน ผ่านมุมมองของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากหลายๆ ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับโครงการนั้นๆ โดยเครื่องมือดังกล่าวได้ช่วยให้กลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและธุรกิจมากมายทั่วโลกได้ค้นพบคุณค่าที่ซ่อนเร้นอยู่ในโครงการนวัตกรรมของตนจากมุมมองการสร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมแบบองค์รวม (holistic sustainability perspective)

การฝึกอบรมดังกล่าวได้ถูกดำเนินการโดย ดร.คิวรี่ย์ พาร์ค (Dr. Curie Park) นักวิจัยจากศูนย์เพื่ออุตสาหกรรมที่ยั่งยืน ผู้เป็นหนึ่งในผู้ร่วมพัฒนาเครื่องมือดังกล่าวขึ้น โดยมีผู้เข้าร่วมเป็นตัวแทนจากองค์กรต่างๆ ที่มีส่วนร่วมในการพัฒนานวัตกรรมรักษ์สิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นในด้านเทคโนโลยีหรือสังคม อาทิเช่น บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ และมูลนิธิยูนุส ประเทศไทย (Yunus Thailand) รวม 11 ท่าน

การฝึกอบรมดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ นวัตกรรมระบบหมุนเวียนสำหรับฟองน้ำ: การใช้การเร่งปฏิกิริยาในการอัพไซเคิลฟองน้ำใช้แล้วจากที่นอนและสินค้าอื่นๆ (Circular System Innovation for Polyurethane Foam: Catalytic approach to upcycle foam waste from mattresses and beyond) ของนอนนอน โดยได้รับการสนับสนุนจาก

  • โครงการ “วิศวกรรม X การเปลี่ยนแปลงระบบผ่านความร่วมมือ” (Engineering X Transforming Systems through Partnership programme) ราชวิศวกรรมศาสตร์บัณทิตยสถาน (Royal Academy of Engineering) สหราชอาณาจักร 

  • หน่วยบริหารจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.)

  • สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

  • บริษัท เซอร์คิวลาร์ริตี จำกัด (นอนนอน)

Nophol Techaphangam